วันอังคารที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2555

กลวิธีความผูกพันองค์กร ผู้นำ-ใส่ใจ-มีส่วนร่วม-สื่อสาร-รางวัล


ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ความผูกพันของพนักงาน (Employee Engagement) คือความรักงาน และความภักดีต่อองค์กร ที่ทำให้พนักงานมุ่งมั่นทุ่มเทสติปัญญาและกำลังความสามารถ เพื่อปฏิบัติภารกิจขององค์กรให้บรรลุผล ซึ่งการทำให้พนักงานผูกพันกับองค์กรได้ ไม่ได้หมายถึงแค่สร้างความพึงพอใจ อันเป็นเพียงก้าวแรกของการปฏิบัติที่จะนำไปสู่ความผูกพัน

เนื่องจาก ความผูกพันของพนักงานมีผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน และความสำเร็จของธุรกิจ ทำให้หลายองค์กรมองว่าเรื่องนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเชื่อมโยงไปถึงการรักษาคนดีคนเก่งให้อยู่กับองค์กรไปนาน ๆ ซึ่งจากงานสัมมนา The Key Success Beyond Business Strategy ของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ได้พูดถึงเรื่องความผูกพันของพนักงานผ่านการบอกเล่าของมือฉมังด้านเอชอาร์

"มนูญ สรรค์คุณากร" HR Strategist อดีตผู้อำนวยการสำนักบุคคลกลาง บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันเป็นรองผู้จัดการใหญ่ กลุ่มทรัพยากรบุคคล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และที่ปรึกษาด้านการศึกษา บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)


"มนูญ" บอกว่า หัวใจของความผูกผันของพนักงานต่อองค์กรมีอยู่ 2 ประการ คือ Contribution และ Satisfaction จะทำอย่างไรให้องค์กรได้รับผลงานที่พนักงานมุ่งมั่นทำให้องค์กร การที่พนักงานเต็มใจอยากจะลงมือทำงาน ขึ้นอยู่กับว่าพนักงานอยู่กับองค์กรแล้วมีความสุข และความพอใจหรือไม่ ซึ่งการทำให้พนักงานพอใจนั้น อย่างเมื่อลูกน้องทำดี คนไทยเพียงแค่กล่าวขอบใจเท่านั้น หรือพาไปกินข้าว เพื่อเลี้ยงความสำเร็จ แต่ของต่างประเทศจะแสดงให้เห็นถึงความชื่นชมอย่างมาก ดังนั้น ผู้บริหารต้องคิดว่าทำอย่างไรให้พนักงานพึงพอใจและรักองค์กร เมื่อเขารักองค์กรแล้วก็ผลิตงานที่ดีออกมาให้เรา

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยในการขับเคลื่อนให้เกิดความผูกพันของพนักงานต่อองค์กรมีอยู่ 5 ข้อ

ประการแรก จากการสำรวจพบว่าพนักงานให้ความสำคัญต่อองค์กรในเรื่องของผู้นำ 50% ตัวเลขนี้เชื่อมโยงไปถึงสาเหตุที่คนออกจากงานว่ามาจากหัวหน้า ซึ่งคนที่ใกล้ชิดกับพนักงานมากที่สุดคือหัวหน้างาน ถ้ามีหัวหน้าดี มีความเอาใจใส่ สอนงานลูกน้อง ช่วยแก้ปัญหาให้เท่าที่สามารถทำได้ จะทำให้พนักงานอยากทำงานกับองค์กร

ประการที่สอง งานที่มอบหมายต้องให้พนักงานรู้สึกว่าเขามีความสำคัญ เมื่อรับผิดชอบงานชิ้นนั้น ๆ แล้วเกิดความรู้สึกภูมิใจ ต้องอธิบายให้ทราบว่างานมีผลต่อองค์กร หรือจะทำให้องค์กรดีขึ้นอย่างไร หากพนักงานเข้าใจถึงความสำคัญของงาน ก็ยิ่งมีความรับผิดชอบ และรู้ว่าจะทำงานพลาดไม่ได้

"ยกตัวอย่างโรงแรมที่ญี่ปุ่น ผมเคยไปพักแล้วไม่ได้จองห้องที่ไม่ได้สูบบุหรี่ จึงไปขอเปลี่ยนห้อง ซึ่งห้องในระดับเดียวกันเต็มแล้ว แต่ห้องราคาแพงกว่ายังว่างอยู่ พนักงานได้อัพเกรดห้องให้ แต่ใช้ราคาเท่าเดิม นี่เป็นการแสดงให้เห็นว่าพนักงานที่อยู่หน้างานมีการบริการลูกค้าในระดับเหนือกว่าปกติที่สมควรได้รับ เพราะเขาให้ความใส่ใจกับงานที่ทำ"

ประการที่สาม ต้องรู้ว่าเราคาดหวังอะไรกับพนักงาน องค์กรมีแผนงานแบบไหนต้องบอกให้พนักงานรู้ เพื่อเขาจะได้ตั้งใจทำงานให้ได้ตามที่เราคาดหวังไว้ และเป็นไปตามแผนงานตามกำหนด

"ขณะที่พนักงานทำงาน เราต้องคอยบอกเขาว่ามีโอกาสเติบโต แต่คำว่าเติบโตไม่ได้หมายความว่าเขาจะขึ้นเป็นซีอีโอ แต่เราจะพัฒนาเขาไปตลอดชีวิตจนกว่าเขาจะเกษียณอายุ หรือเมื่อไรที่เราเปลี่ยนวิธีการทำงานก็ต้องสอนงานเขาใหม่ ไม่ใช่ว่าโยนเขาลงไปในน้ำแล้วให้เขาหาวิธีเอง นี่คือเรื่องของ Career Opportunity และไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องการโปรโมตอย่างเดียว ยังสามารถทำให้เขามีความพึงพอใจว่าเขาจะได้รับการพัฒนาตลอด ทั้งตำแหน่งหน้าที่ ความรู้ความสามารถ และประสบการณ์"

นอกจากนี้ยัง มีเรื่องการสื่อสาร ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดเยื่อใยต่อกัน ต้องทำให้พนักงานรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ฉะนั้นจะต้องสื่อสารให้พนักงานทราบทั้งกระบวนการทำงาน ผลการดำเนินงาน โครงการต่าง ๆ หรือกิจกรรมที่จัดขึ้น ถ้าพนักงานไม่รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร เขาจะไม่ทำงานที่ดีให้เรา เป็นการทำงานไปวัน ๆ เท่านั้น

โดยการสื่อสารทำได้ตลอดเวลาและหลายช่องทาง แต่ต้องระวังว่าการสื่อสารเนื้อหากับผู้รับสารแต่ละระดับจะใช้ระดับภาษาหรือ วิธีการสื่อที่ต่างกัน กระนั้นการสื่อสารทางตรง หรือ Face to Face เป็นวิธีที่ดีที่สุด แสดงถึงความจริงใจ มุ่งมั่นที่จะสื่อให้รู้ ซึ่งถ้าไม่สื่อสารกันอาจเกิดปัญหาในอนาคตได้

"มีโรงงานหนึ่งที่เคย อยู่ในเครือเอสซีจี ปีนั้นเขามีผลประกอบการดี จ่ายโบนัส 4 เดือน และมีรายการผลิตต่อเนื่อง แต่อีกปีกลับจ่ายโบนัสลดลงเหลือ 3.75 เดือน ทำให้พนักงานไม่พอใจและประท้วง ความจริงคือแม้ยอดการผลิตจะสูงขึ้น แต่ผลประกอบการขององค์กรลดลง ซึ่งเขาไม่ได้สื่อสารให้พนักงานทราบ พนักงานที่คิดว่าโบนัสจะเพิ่มขึ้นจึงผิดหวัง"

ประการสุดท้ายของการสร้างความผูกพัน คือการให้รางวัล ต้องล้อไปกับผลงานของพนักงาน อย่าทำให้องค์กรเป็นประเภทความชั่วไม่มี ความดีไม่ปรากฏ เพราะจะทำให้คนไม่ทำงาน ดังนั้นเมื่อไรที่พนักงานทำดีต้องมีรางวัลให้ หรือถ้าไม่ทำดีก็ต้องมีรางวัลในด้านลบให้ ยิ่งกว่านั้นองค์กรต้องให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะกับคน Gen Y ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก

"มนูญ" มองว่า สิ่งที่ได้หลังจากที่พนักงานมีความผูกพันกับองค์กรคือ Change Management เพราะจากการสำรวจพบว่าโดยทั่วไปพนักงานมีความผูกพันกับองค์กร 30% คนที่ไม่มีด้านนี้มีอยู่ 17% ที่เหลืออีกกว่า 50% เป็นหน้าที่ขององค์กรที่ต้องดึงคนเหล่านี้ให้มาเพิ่มกับ 30% ให้ได้ และหาทางพัฒนากลุ่ม 17% ด้วยการทำให้เขาดีขึ้น ถ้าทำไม่ได้ ต้องให้เขาออกไป มิฉะนั้นองค์กรจะแย่

"ถ้าเราได้คนที่มีความผูกพันกับองค์กรมาก ๆ เวลาที่เกิดเรื่องความไม่แน่นอนของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม หรือภัยธรรมชาติ อย่างน้ำท่วมเมื่อปีที่แล้ว ไทยพาณิชย์มี BCP หรือ Business Continuity Plan ไม่ว่าจะเกิดภัยพิบัติใดก็ตาม ธุรกิจต้องไม่หยุดชะงัก ซึ่งการทำแผนนี้ ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากพนักงานคงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะแม้จะมีเหตุการณ์ไม่แน่นอน แต่พนักงานก็ทำงานตามปกติ ร่วมสู้ไปกับองค์กร"

"รูปแบบของการเปลี่ยนแปลง หรือประสิทธิผลที่ได้เท่ากับต้นทุนคูณการยอมรับ คือต้นทุนที่ใช้ในการเปลี่ยนแปลงคูณด้วยการยอมรับจากพนักงาน สมมติเราต้องเปลี่ยนระบบไอทีใช้เงิน 2 ร้อยล้าน ก็จะเชื่อมโยงกับการยอมรับของพนักงาน ถ้าพนักงานไม่ยอมรับทั้งหมด แม้เราจะใส่ต้นทุนไปเท่าไร ผลลัพธ์ที่ออกมาก็ไม่เต็มอย่างที่ควรจะเป็น แต่ถ้าพนักงานยอมรับ และทุ่มเท ศึกษา ต่อยอดให้ดีขึ้น การทำงานจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ประสิทธิผลก็จะเพิ่มตามไปด้วย"

กล่าวได้อีกทางหนึ่ง คือไม่จำเป็นต้องเพิ่มต้นทุน แต่ให้มาแก้ที่การยอมรับของพนักงาน ถ้าทำได้ ผลลัพธ์จะเพิ่มเป็นเท่าตัว แสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง หากอยู่บนฐานของการที่พนักงานมีความผูกพันกับองค์กร จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ราบรื่นมากขึ้น และองค์กรสามารถอยู่รอดปลอดภัย

Source: http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1345095264&grpid=no&catid=17&subcatid=1700

วันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

โฟร์โมสต์ปรับโลโก้ แบบมี “story telling”

อังสุมาลิน ศิริมงคลกิจ
Positioning Magazine(2 กรกฎาคม 2555)

เพื่อทำให้ภาพลักษณ์ของโฟร์โมสต์ดูสดใสโดนใจคนรุ่นใหม่ และแตกต่างจากคู่แข่ง จึงใช้งบประมาณ 400 ล้านบาท รีเฟรชแบรนด์ครั้งใหญ่ในรอบ 2 ปี ชนินทร์ อรรจนานันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า การรีเฟรชแบรนด์ได้ผลที่สุดคือการปรับโลโก้กับแพ็กเกจจิ้ง

โจทย์ของโฟสต์ คือ ต้องดูทันสมัย ใหญ่ ชัดเจน แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องคงเอกลักษณ์ความเป็นโฟร์โมสต์ ผู้บริโภคเห็นแล้ว จำได้ทันทีว่าเป็นโฟร์โมสต์ เหตุผลที่โฟร์โมสต์ต้องลุกขึ้นมารีเฟรชแบรนด์ครั้งใหญ่ก็เพื่อสื่อสาร Key Message ใหม่ให้เข้ากับเทรนด์ผู้บริโภคตอนนี้ที่ใส่ใจเรื่องของสารอาหารที่มีอยู่ใน นมมากขึ้น

ผู้บริโภคในประเทศไทยตอนนี้ ทุกคนรู้แล้วล่ะว่า นมมีประโยชน์ แต่ตอนนี้เราอยู่ในขั้นของการสื่อสารที่ชี้ให้เห็นไปเลยว่านมแต่ละแบรนด์มี ประโยชน์แตกต่างกันอย่างไร เราจึงต้องสื่อสารตั้งแต่ต้นทาง เพราะนมเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเรื่องราวมาตั้งแต่ฟาร์ม ตั้งแต่กลุ่มคนเลี้ยง แล้วนมก็เป็นสินค้าที่เกี่ยวพันกับเกษตรของประเทศเยอะมากh

จากแนวคิดดังกล่าวมาสู่คอนเซ็ปต์การสื่อสารใหม่เป็น Quality from Grass to Glass-จากยอดหญ้าถึงนมในมือคุณ ด้วยสารอาหาร 55 ชนิด ซึ่งปรากฏให้เห็นชัดเจนบนแพ็กเกจจิ้งแบบใหม่ที่ดูสะอาดตามากขึ้น เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่สนใจเรื่องฉลากบนโปรดักต์มากขึ้น

เพื่อทำให้การปรับโลโก้ในครั้งนี้เป็นที่จดจำ โฟร์โมสต์จึงแบ่งงบสื่อสารไปที่ TVC เพื่อสร้างการรับรู้กลุ่มแมสด้วยงบประมาณ 80-90% ของงบทั้งหมด ส่วนที่เหลือก็ใช้สื่อสารผ่านทีวีดาวเทียมและดิจิตอล และทดลองใช้ทั้ง Game Online กับ Funtory Machine เครื่องเล่นเกมของโฟร์โมสต์ที่จะถูกนำไปตั้งตามแหล่งวัยรุ่น เช่น เซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเด็ก-วัยรุ่นได้เล่นแล้วซึมซับประสาบการณ์ว่าแบ รนด์โฟร์โมสต์

การปรับด้านการสื่อสารของ โฟร์โมสต์ในครั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า ช่วงเวลาเดียวกับที่  ดัชมิลค์ รุกตลาดนมพาสเจอร์ไรซ์ ดัชมิลล์ ซีเล็คเต็ด ออกสู่ตลาดเช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่าดัชมิลค์จะออกโปรดักต์ในกลุ่มนมพาสเจอร์ไรซ์ ขณะที่โฟร์โมสต์ยังเน้นหนักที่นมยูเอชทีอยู่ แต่ภาพลักษณ์ในองค์รวมของทั้งสองแบรนด์ก็ตรงกัน เป็นการคอนเฟิร์มว่าอินไซท์ที่ผู้บริโภคต้องการในยุคนี้ต้องการ ก็คือเรื่องสารอาหารที่ถูกคัดสรรมาแล้วเป็นอย่างดี ไปจนถึงพฤติกรรมการซื้อที่อ่านลากสินค้าศึกษาสารอาหารที่ตัวเองต้องการ  


มูลค่าตลาดนมในประทศไทย 36,000 ล้าบาท
นมยูเอชท 60% (เติบโต 7%)    
นมพาสเจอร์ไรซ์ 40% (เติบโต 10%)

อัตราการบริโภคนมของคนไทย
คนไทย 14ลิตร/คน/ปี
อาเซียน 60 ลิตร/คน/ปี
ทั่วโลก 103 ลิตร/คน/ปี

Source: http://www.positioningmag.com/magazine/printnews.aspx?id=94906