วันอาทิตย์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ปลดล็อกธุรกิจ อาคเนย์


โดย : วรนุช เจียมรจนานนท์ , ภาพ : สุกล เกิดในมงคล วันที่ 19 พฤศจิกายน 2552 00:21

ผ่านไปสองเดือนเศษ สำหรับวันธงไชยของค่ายธุรกิจประกันและการเงิน “อาคเนย์” ที่เลือกให้วันที่ 9 เดือน 9 ปี 2009 เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง

ท่ามกลางกระแสหนัง 2012 วันสิ้นโลก หนังภัยพิบัติที่เล่าเรื่องกาลอวสานของโลกในอีก 3 ปีข้างหน้า แต่สำหรับโลกของธุรกิจแล้วไม่ต้องเข้าคิวรอคำทำนายจากชาวมายัน เพราะทุกวันคือการเคลื่อนไหวแบบฟุตเวิร์ค เพื่อไม่ให้ตัวเองถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
ยิ่งถ้าต้องการให้ธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดดด้วยแล้ว ถัดจากฟุตเวิร์คก็คือท่าเต้นแบบ เค-ป๊อป หรือเจ-ป๊อป ที่บริษัทต้องหมั่นซ้อมเพื่อให้แน่ใจได้ว่า องค์กรได้ขับเคลื่อนไปในทิศทางที่มุ่งหวัง

“มุมมองของคนอาคเนย์ เป็นคนที่มีความเข้าใจและรู้ซึ้ง มีความคิดในระบบการจัดการต่างๆ เป็นประเด็นสำคัญ เราไม่ใช่นักคำนวณคงแก่เรียน หรือเด็กขี้เล่นใส่กางเกงยีนส์เสื้อยืด แล้วกอดคอไปไหนไปกัน แต่เป็นลักษณะของคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ รู้จริง ทำจริง ศึกษาจริง เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจอย่างแท้จริง เราทำเพื่อความต้องการจริงของลูกค้า ตั้งแต่ต้นทางปลายทางของสินค้าและบริการ และเข้าใจถึงผลลัพธ์ที่จะออกมาจริง” โชติพัฒน์ พีชานนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เครืออาคเนย์ จำกัด บริษัทแม่ในสายธุรกิจบริการทางการเงินกลุ่มทีซีซี เล่าถึงแก่นความเป็นแบรนด์อาคเนย์ ที่สะท้อนถึงการรู้จริงและทำจริง (truth in action)
กว่าครึ่งค่อนศตวรรษที่อาคเนย์ยืนหยัดอยู่ในธุรกิจประกันและการเงิน การเปลี่ยนแปลงที่ถือเป็นจุดหักเหอีกคำรบของธุรกิจเก่าแก่แห่งนี้ เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการก้าวเข้ามานำทัพของมือดีทางการเงินอย่างโชติพัฒน์เมื่อไม่นาน

“ที่ผ่านมาอาคเนย์ยังคงเติบโตมีกำไร ถ้าอยากทำเหมือนเดิมก็กำไรได้ไม่มีปัญหา แต่ถ้าต้องเติบโตแบบก้าวกระโดด เราต้องคิดที่จะเปลี่ยนแปลง เปิดทางให้คนได้แสดงความคิดเห็น และต้องเตรียมความพร้อมให้คนรับมือกับการเปลี่ยนแปลง”

โชติพัฒน์เล่าว่า ทุกองค์กรล้วนแล้วแต่เจอคำถามที่เป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงไม่แตกต่างกัน “เปลี่ยนได้จริงหรือ ทำไมต้องเปลี่ยน เปลี่ยนแล้วดีไหม” สิ่งที่ทำให้คำถามมีน้อยลงคือ สร้างการเปลี่ยนแปลงจากพนักงาน เลือกให้เขาและเธอเป็นดารานำ เป็นคนคิดและนำการเปลี่ยนแปลง ซึ่งช่วยลดกระแสข่าวลือ และเน้นใช้เครื่องมือสื่อสารพูดคุยกับพนักงานทุกระดับ เพื่อบอกเล่าเก้าสิบให้รู้ว่า บริษัทมีความคาดหวังในตัวพนักงานว่าต้องทำอะไรบ้าง เพื่อให้องค์กรไปในเป้าหมายที่ต้องการ แทนที่จะให้ทิศทางธุรกิจรู้กันเฉพาะในห้องประชุมของผู้บริหารระดับสูง

สองปีหลังเขาเข้ามาตั้งลำธุรกิจและประกาศรีแบรนด์ในวันธงไชย ระหว่างนี้อาคเนย์กำลังเข้าสู่โหมดกระบวนการจัดการภายใน ภายใต้ความร่วมมือระหว่างพนักงานกับผู้บริหาร โดยแบ่งออกเป็นทีมพัฒนาสร้างสรรค์นวัตกรรมสินค้าและบริการ 12 ทีม ทีมสื่อสารภายในเพื่อให้ความรู้หลังรีแบรนด์ การปรับทัศนคติและค่านิยมองค์กรอีก 6 ทีม

เขาบอกว่า การกระจายอำนาจจากที่เคยเป็นบนลงล่าง มาเป็นล่างขึ้นบน เป็นการสร้างคนให้มีส่วนร่วมต่อการเปลี่ยนแปลง สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ ยิ่งเมื่อได้มีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น ได้ลองหัดคิดหัดทำ ก็จะมีแรงมุ่งมั่นสานต่อช่วยกันทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ
ปลายทางของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ อาคเนย์ต้องการเข้าให้ถึงความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า ซึ่งถ่ายทอดออกมาในหนังโฆษณาชุดห่วง ที่จับจุดว่า ทุกคนต่างก็มีห่วงกังวลในชีวิตกันทั้งนั้น ดังนั้น การฝากห่วงไว้กับอาคเนย์เท่ากับเป็นการปลดห่วงภาระความกังวล
และถ้ามองในมุมกลับกัน หนังโฆษณาปลดห่วงชุดนี้ก็เปรียบเสมือน กระจกสะท้อนการปลดล็อกศักยภาพธุรกิจของอาคเนย์ (unlock your potential) ออกมาให้สุดแรง ภายใต้แนวคิดของการทำประกันให้เป็นเรื่องง่าย แต่ต้องไปวางระบบหลังบ้านให้มีประสิทธิภาพและแข็งแกร่ง

ในยุคที่ธุรกิจประกันกำลังเนื้อหอม และทำประกันก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แนวคิดทำให้ง่ายแบบอาคเนย์ เขาอธิบายว่า ต้องดูครอบคลุมทั้งกระบวนการ ทำให้ลูกค้าสัมผัสได้ง่าย เข้าถึงตัว เข้าใจง่ายว่าประกันคืออะไร และซื้อได้ง่าย แต่ไม่ใช่ซื้อง่ายแล้วบ๊ายบาย ที่เหลือลูกค้าไปเผชิญโชคเอาเอง

ขณะที่ความง่ายในมุมของธุรกิจ เขายืนยันว่า หมดเวลาของการไปเริ่มต้นนับหนึ่ง เช่น การไปเปิดสาขาเพื่อเพิ่มช่องทางจำหน่ายให้ได้มากๆ แต่ต้องเอาทุกวิธีคิดเชิงกลยุทธ์มารวมกันแล้วผนึกกำลังให้เป็นหนึ่ง โดยยืนอยู่บนโครงสร้างธุรกิจกลุ่มทีซีซีที่อาคเนย์ฝังตัวอยู่
“การโตของอาคเนย์จากนี้จะเป็นระบบทวีคูณ จาก 2 ไป 4 จาก 4 ไป 8 ไม่ใช่ 1 บวก 1 เป็น 2 เรียกว่าเป็นการเติบโตระยะยาว เป็นจุดที่คู่แข่งต้องหันมามองเรามากขึ้นกว่าเดิม แต่ไม่ใช่ในแง่ของการไปฟันราคา ดับทางคู่แข่ง เราพยายามมีความคิดริเริ่มใหม่ๆ ให้การประกันเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ โดยใช้ปัจจัยพื้นฐานความสำเร็จเลยก็คือคน สร้างคนให้มีคุณภาพ คนต้องเก่งในการคิด เข้าใจได้ว่าลูกค้าต้องการอะไร คิดกลยุทธ์ก็ต้องใช้คน แล้วจะมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นมากมาย จากการที่เรามีคนดี จากงานที่ดี และทำให้คนมีประสิทธิภาพสูงสุด”

อาคเนย์ใช้ระบบแตกตัวสร้างช่องทางจำหน่ายใหม่ นอกเหนือจากระบบตัวแทนขายประกัน มาผ่านเครือข่ายยี่ปั๊วซาปั๊วซึ่งมีนับพันแห่ง ในกลุ่มธงนำของธุรกิจเหล้าเครือทีซีซี แทนที่จะมุ่งแต่ตัวแทน เขามองว่า อนาคตธุรกิจประกันของอาคเนย์ มีความพร้อมขยายธุรกิจหลายช่องทาง ยิ่งถ้าต้องแข่งขันกับตลาด ก็ต้องยิ่งเพิ่มช่องทางเข้าถึงลูกค้าให้มากขึ้น

“อาเฮียขายเหล้าขายเบียร์รู้จักคนมากกว่าพนักงานแบงก์ด้วยซ้ำ เพราะอยู่ในพื้นที่มานาน มีความสัมพันธ์อันดี ต่อไปแทนที่จะซื้อขายกันแต่เหล้าเบียร์ ก็เปลี่ยนเรื่องมาคุยกันเรื่องประกัน เรื่องวางแผนชีวิตแทน อยู่ในแผนงานที่เราจะทำ เรียกว่าเป็นการคิดใหม่ทำใหม่ ไม่จำเป็นต้องติดยึดว่าต้องขายผ่านธนาคาร และเป็นแนวคิดที่ทำได้ รวมถึงช่องทางอื่นๆ ผ่านเครือข่ายธุรกิจโรงแรม อสังหาริมทรัพย์ หรือแม้แต่สินค้าอุปโภคบริโภคในเครือ

ขณะเดียวกัน ถ้าเราเร่งพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า เราพยายามเจาะลูกค้าเฉพาะกลุ่ม เข้าใจแท้จริงว่าลูกค้าต้องการอะไร แล้วพัฒนาสินค้าให้ตรงใจมากที่สุด ถือว่าเป็นการขยายธุรกิจอย่างยั่งยืนจากนี้ ไม่ใช่การยัดเยียดหรือซื้อตามเพื่อนอย่างที่แล้วมา” อาคเนย์คือทิศตะวันออกเฉียงใต้ แต่สิ่งที่โชติพัฒน์กำลังทำอยู่ทุกวันนี้ คือการบริหารประโยชน์ทั้งสิบทิศ เพื่อผนวกรวมเป็นแผ่นดินธุรกิจผืนเดียวบนฐานที่มั่นกลุ่มทีซีซี

Source:http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/hr/20091119/87104/ปลดล็อกธุรกิจ-อาคเนย์.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น