วันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ซิคเว่ เบรคเก้ จากมือดีนอกราชอาณาจักร สู่นักสร้างแบรนด์ในตลาดหลักทรัพย์

นาราตา ปัญญาวงษ์
…Sick Old Lady…

คำที่คน DTAC จำได้แม่นว่าเป็น Perception ที่ผู้บริโภคมองกลับเข้ามาใน DTAC ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในปี 2546

เมื่อ DTAC ได้เข้าสู่ช่วงนาทีวิกฤตที่ทีมงานหลายๆ คนเตรียมถอดใจกับสภาพธุรกิจที่กำลังเข้าสู่ช่วงโคม่า

แต่วิกฤตกลับพลิกเป็นโอกาส เมื่อ “ซิคเว่ เบรคเก้” ในยุคที่เขามีบทบาทเป็น Co-CEO ร่วมกับ “วิชัย เบญจรงคกุล” กลับมองเห็นว่า เมื่อทุกอย่างกำลังติดลบ ก็กลายเป็นเรื่องง่ายที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ เพราะคงไม่มีอะไรจะแย่ไปกว่านี้อีกแล้ว

นับแต่นั้นมา ก็ดูเหมือนว่าชาว DTAC ได้เกิดความร่วมแรงร่วมใจที่พร้อมจะทำสิ่งใหม่ๆ เพื่อท้าทายความสามารถของตัวเองออกมาอยู่เสมอ

Changing by Doing

ปี 2546 คือจุดเปลี่ยนที่สำคัญของ DTAC เมื่อ DTAC ได้ทำการเปิดตัวแบรนด์ HAPPY พร้อมกับการเปิดตัวแพ็กเกจ Prepaid ตัวใหม่ ที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จพอสมควร ความฮึดสู้ก็กลับมาอีกครั้ง พร้อมกับความมั่นใจของทีมงาน

ความสำเร็จส่วนหนึ่งเกิดจากความกล้าได้กล้าเสียของผู้นำทัพ “ซิคเว่ เบรคเก้” อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งประเทศนอร์เวย์ นักบริหารมือหนึ่งที่เทเลนอร์ส่งมากอบกู้สถานการณ์ให้กับ DTAC

คุณซิคเว่ เบรคเก้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ยอมรับในความเป็นคนกล้าได้กล้าเสียของเขา เพราะเขาเป็นคนที่ยอมรับความเสี่ยงได้สูง โดยให้เหตุผลว่าหากต้องการเปลี่ยนแปลงองค์กร ก็ต้องเปลี่ยนแปลงที่ตัวเราก่อน เริ่มจากตัวเองที่อยู่ข้างบนสุด เพื่อทำให้ทุกคนเห็นว่าข้างบนเปลี่ยนข้างล่างก็จะเปลี่ยนตามมา และเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนเปลี่ยนแต่ตัวเองยังนั่งอยู่อย่างเดิม

“เช่นเดียวกับ คุณนิวัตต์ และ คุณตัน ที่เปลี่ยนแปลงจากตัวเองก่อนที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงข้างในตัวองค์กร เพราะการสร้างวัฒนธรรมองค์กรเป็นสิ่งที่ต้องเริ่มทำมาจากข้างบน เรียกว่า Changing by Doing เป็นการเปลี่ยนแปลงด้วยการกระทำหลายๆ บริษัทอาจเปลี่ยนโดยจ้างบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาดูแล ต้องจ้างเอเยนซีมาทำมาร์เก็ตติ้ง ทุกอย่างสวยงาม มันโอเค แต่มันจะอยู่ได้ไม่นาน เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่มาจากความเป็นแบรนด์ ไม่ใช่สิ่งที่มาจากความเป็นตัวตนข้างในของเรา

นี่คือ การสร้างแบรนด์ที่แท้จริง นี่คือเหตุผลที่ผมไม่เชื่อการใช้พรีเซ็นเตอร์…

ผมไม่เชื่อว่า คนอื่นจะพรีเซนต์แบรนด์ของเราได้ดีกว่าตัวเรา เราควรเป็นคนที่ออกมาพูดถึงตรงนี้ เพราะการสร้างแบรนด์เป็นการสร้างจากภายใน เอาตัวตนของคนที่อยู่ในแบรนด์นั้นๆ ออกมาบอกเล่า”

นอกจากนี้ คำว่า Learning by Doing ยังมีบทบาทค่อนข้างสูงในสังคมของคน DTAC ที่แสดงออกมาในแง่การยอมรับความผิดพลาดของคนในองค์กร เป็นการยอมให้คนในองค์กรสามารถทำผิดพลาดได้

“เพราะทุกคนไม่สามารถทำถูกต้องได้ตลอดเวลา ถ้าคุณยอมรับได้ว่าคุณทำผิดพลาด นั่นก็คือ คุณยอมรับความเสี่ยง กล้าที่จะทำผิดและกล้าที่จะเสี่ยงยอมรับกับสิ่งใหม่ๆ ในยุคแรกๆ ทุกคน

กลัวที่จะผิดพลาด ผม และคุณวิชัย จึงต้องออกมาบอกว่าคนแรกที่ทำผิดจะได้รับรางวัล” คุณซิคเว่ ให้เหตุผล และเสริมว่า

จุดนี้เป็นเรื่องสำคัญ ที่จะผลักดันให้องค์กรเกิดการเติบโต แต่ไม่ใช่ว่าจะยอมให้ทุกคนทำผิดพลาดกันไปเรื่อยๆ เพราะทุกคนต้องเรียนรู้จากสิ่งที่ได้ทำพลาดไป ข้อดี คือสามารถRe-act ได้ทันทีกับภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงของตลาด ถ้าเขาสามารถแก้ไขปัญหานั้นได้ และทำสิ่งนั้นได้ดีขึ้น นั่นก็เป็นเรื่องที่ดี

“ฟังแล้วอาจจะดูบ้าๆ แต่นั่นคือสิ่งที่ผมคิดจริงๆ ผมเคยส่งเมล์หาพนักงานกว่า 4,500 คน เพื่อเล่าถึงความผิดพลาดของตัวเอง จากนั้นก็ให้ คุณธนา คุณสันติ และผู้บริหารชั้นสูงอีก 6 คน เขียนบอกเล่าความผิดพลาดของตัวเอง แล้วส่งให้พนักงานทุกคนอ่าน ให้เขาเห็นว่าขนาดผู้บริหารยังพลาดได้ เขาก็มีสิทธิ์พลาดได้เช่นกัน”

นี่คือ เหตุผลที่เขาอยากให้คนในองค์กรเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด...

การที่จะ Inspired ให้คนในองค์กรเห็นพ้องต้องกันกับแนวความคิดต่างๆ ที่ได้นำเสนอออกไปนั้น คุณซิคเว่ บอกว่าต้องเริ่มต้นจากการสร้างวัฒนธรรมภายในที่คน DTAC เรียกว่า Really Estimate เพราะหากปราศจากแนวคิดตรงนี้แล้วก็คงไม่สามารถทำงานกับ DTAC ได้

เริ่มต้นตื่นนอนตอนเช้าที่ต้องใส่ความมุมานะเข้าไปกับการทำงาน ทุ่มลงไปกับการทำงานเต็มตัว และยังต้องประกอบด้วยแนวคิดต่างๆ เหล่านี้ก็คือ

หนึ่ง Passion สอง Emotional ในการทำงานมีทั้งความสุข สนุกสนานในการทำงาน ยิ้ม หัวเราะ คือลักษณะของคนที่มีอารมณ์ที่จะมาทำงาน

สาม Down to earth คือติดดิน สามารถเข้าไปคุยกับลูกค้าได้ทุกเมื่อ เพราะที่ DTAC เชื่อใน Walk and Talk เดินไปเจอคนแล้วก็พูดคุย ไม่มีความแตกต่างระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อยเพราะว่าทุกคนต้องทำงานร่วมกันเป็นทีม

และ สี่ รักในการแข่งขัน เกลียดที่จะพ่ายแพ้ และปรารถนาที่จะชนะในเกมการแข่งขันตลอดเวลา

“วัฒนธรรมอย่างนี้ไม่ได้เหมาะกับทุกคน แต่เหมาะกับคนบางส่วนที่ทุ่มให้กับการทำงาน นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมเวลา Recruit คนเข้ามาทำงาน ไม่ได้มองจากเกรด หรือจากทักษะ แต่มองจากทัศนคติในการทำงานมากกว่าต้องเข้ากับวัฒนธรรมที่เราเป็นอยู่ ในระดับบนเข้าใจตรงนี้หมดแล้ว

ดังนั้น การจะ Motivate คนให้ทำตาม อย่างแรก คือตั้งเป้าหมายที่ค่อนข้างสูงกว่าระดับปกติ สอง การที่ยอมให้คนทำผิดพลาดได้ ยอมรับความเสี่ยงได้ สาม ทำให้เขาเป็นตัวของตัวเอง สี่ ใส่ใจเสมอ เช่น เจอพนักงานก็ถามว่าเป็นอย่างไรครอบครัวเป็นอย่างไร เพื่อแสดงความใส่ใจที่เรามีให้กับเขา”

Happy=Successful

บทบาทของ คุณซิคเว่ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การเป็น CEO ที่มีพื้นที่สั่งการอยู่แค่บนโต๊ะทำงาน หรือในรัศมีของฐานที่ทำการของ DTAC เพราะบทบาทของเขาเป็นมากกว่าผู้สร้างแบรนด์หรือถูกมองว่าเป็นตัวแทนของ แบรนด์ในแง่ Brand Ambassador ซึ่งเขาก็ไม่ปฏิเสธหากใครจะมอง เช่นนั้น เมื่อทุกๆ กิจกรรมตลาด หรือทุกนโยบายการทำงาน จะมีเขาคอยทำหน้าที่ผลักดันให้ทุกภารกิจรุดหน้าไปด้วยตัวของเขาเองเสมอ

ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมการสื่อสารภายในองค์กร หรือการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายภายนอกองค์กรผ่านภาพยนตร์โฆษณา รวมไปถึงกิจกรรมการพบปะลูกค้า ก็ล้วนแต่มีตัวเขากลายเป็นแม่เหล็กชิ้นใหญ่ที่ดึงดูดทุกความสนใจให้พุ่งเป้าเข้ามาหาความเป็น DTAC

“ผมใช้ตัวเองเปิดทางให้กับคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นคุณสันติ หรือคุณธนา ที่อาจจะมายืนอยู่ในส่วนนี้ต่อจากผม หรืออาจเป็นผู้บริหารท่านอื่น ผมพยายามออกงานให้น้อยลงแต่เป็นคนอื่นมากขึ้น การทำอย่างนี้ค่อนข้างยากต้องใช้เวลาในการสร้าง แต่ถ้าสร้างได้ก็จะประสบความสำเร็จในการสร้างแบรนด์”

เขาแย้งว่า ความเป็นตัวตนของเขา และ Brand Character ของ DTAC อาจไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียว

“ผมไม่ได้ต้องการใส่ตัวตนของผมลงไปในแบรนด์แบบเต็มๆ เพราะนั่นหมายความว่าผมจะไม่สามารถออกไปจากที่นี่ได้ แบรนด์ DTAC กับตัวผมไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียว บทบาทที่นำมาใช้กับ

DTAC ก็เป็นแค่บางส่วนของผม เพราะการที่จะบอกว่าการสร้างแบรนด์เป็นอย่างไร หรือตัวเราเป็นอย่างไรมันสามารถโกหกได้ มันไม่สามารถทำในสิ่งที่เราไม่ได้เป็นให้ออกมาได้ คือต้องใช้ที่เป็นตัวตนของเราจริงๆ ออกมา

การสร้างแบรนด์ของ DTAC ผมใช้ความเป็นตัวผมเพียงบางส่วนเท่านั้น แล้วพยายามมอง Position ของ DTAC ว่าเป็นอย่างไร การแข่งขันในตลาดเป็นอย่างไร ถ้าผมเป็น CEO ของแบงก์ หรือของอุตสาหกรรมอื่นๆ ผมก็อาจจะใช้ซีกอื่นของตัวเอง

เป็นการคิดที่ผ่านการกลั่นกรองมาอย่างดีแล้วก่อนออกมาเป็นกลยุทธ์ เราเลือกที่จะเป็น ถ้ามองผู้บริหารระดับท็อป จะเห็นได้ว่าบุคลิกภาพของแต่ละคนแตกต่างกันไป แต่ทุกคนจะมีส่วนที่เหมือนมีแรงผลักในการทำงานที่ค่อนข้างสูงเหมือนๆ กัน ติดดินเหมือนกัน รักในการแข่งขัน และมองว่าชีวิตคือการทำงานเหมือนกัน”

วันนี้ Perception ของ Sick Old Lady ได้แปรสภาพมาสู่ภาพลักษณ์ใหม่ว่าเป็นแบรนด์ที่เป็นคนดี และ Sincere แต่เมื่อโดนคำถามแบบทีเล่นแต่เอาจริงว่า Brand Character ที่แท้จริงของ DTAC เป็นอย่างไร

ที่สำคัญ DTAC วันนี้เป็นผู้หญิง หรือผู้ชาย?

“เอาเป็นว่า ให้ผมบอกว่าอะไรที่เราไม่ได้เป็นดีกว่าเราไม่ได้เป็นนักธุรกิจ ไม่ได้เป็นวัยรุ่นแบบ Cool Teenager ไม่ได้เป็นพวกบ้าเทคโนโลยี และไม่ได้อยู่ในตลาดเด็ก Perception ของเราเป็นคนกลางๆ เป็นคนดี ไม่ว่าจะเป็นหญิง หรือผู้ชาย หรืออาจเป็น Family Woman ก็ได้

เราเป็นคนที่อยู่ในระดับกลาง ตรงนี้เป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนของเรา ข้อดีคือ เราเปลี่ยนจากผู้หญิงป่วยและแก่มาเป็นคนที่โอเค ใช้ได้แล้ว แต่จุดอ่อนของเราก็คือ ยังไม่เป็น Cool Guy ยังไม่เจ๋ง ผมว่าแบรนด์ที่ดูแล้วเจ๋ง ก็คือ TRUE เพราะเขาทำได้ดี แต่ถ้าเป็นภาพของนักธุรกิจตรงนี้คงเป็น Perception ของ AIS หรือว่าภาพของกลุ่มบ้าเทคโนโลยีก็เป็นของ AIS แต่เราเป็นคนระดับกลางๆ เราจึงต้องพัฒนาในส่วนที่อ่อนอยู่ให้เข้มแข็งต่อไป

ส่วนที่มีพัฒนาการอย่างชัดเจน คือ แบรนด์ HAPPY ซึ่ง Perception ของ HAPPY คือ ใจดี คนดี ใจดีแจกให้ ตรงนี้ก็ยังทำอย่างต่อเนื่อง และจะออกมาใหม่ในส่วนของตลาดวัยรุ่น Cool Young Teen ส่วน Perception ของภาพนักธุรกิจ หรือพวกบ้าเทคโนโลยี อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต”

Big Challenge

ในแง่ผู้นำทัพ คุณซิคเว่ มองว่า การเป็น CEO ในช่วงที่มีวิกฤตเศรษฐกิจกลับง่ายกว่าการเป็น CEO ในช่วงที่บริษัทประสบความสำเร็จแล้ว เพราะในช่วงที่บริษัทเกิดวิกฤตทุกคนพร้อมที่จะทำอะไรก็ได้ พร้อมที่จะโอเคกับสิ่งใหม่ๆ พร้อมที่จะลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนพร้อมที่จะรับความเสี่ยงทั้งในแง่ของการทำตลาด และการออกแพ็กเกจใหม่

“เพราะวันนี้แม้ว่าเราจะเป็น Under dog แต่ก็เป็น Under dog ที่ประสบความสำเร็จพอสมควร คนก็เริ่มกลัวความผิดพลาด กลัวที่จะเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เพราะถ้าเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ไม่ประสบความสำเร็จก็ไม่ได้แล้ว ต้องทำให้สำเร็จตลอดเวลา

สิ่งที่ท้าทาย คือจะทำอย่างไรในฐานะมวยรองให้สามารถท้าทายเป้าหมายได้หรือสามารถเติบโตได้ตลอดเวลา เรามีทางเลือกว่าจะเป็น Good Company หรือเป็น Great Company เราต้องรักความท้าทายตลอดเวลา กระหายความสำเร็จที่ก้าวหน้านี่คือแนวคิดของการเป็น Under Dog ที่เราต้องยึดถือเอาไว้”

การที่จะทำให้สิ่งต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นได้ สิ่งที่ต้องทำ คือการเปลี่ยน Position ของคนอยู่เสมอ เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดการแอ็กทีฟในการทำงาน ทุกคนต้องกระหายกับความสำเร็จ DTAC จึงต้องตั้งเป้าหมายให้เป็น Top Target เพื่อสร้างแรงผลักดันให้ก้าวไปถึงจุดนั้น

“วันนี้คู่แข่งของเราไม่ใช่ AIS ไม่ใช่ TRUE แต่เป็นตัวเราเอง ทำอย่างไรให้เราก้าวข้ามความสำเร็จของตัวเองไปสู่เป้าหมายใหม่ๆ ได้ และทุกครั้งที่ Reach Target จะต้องตั้งเป้าหมายใหม่ไว้เรื่อยๆ เพื่อจะผลักดันให้บริษัทก้าวต่อไป เป็นการ Challenge ตัวเอง”

ในสายตาของ CEO แห่งค่าย DTAC คำว่า Great Company ต้องประกอบด้วย

หนึ่ง การเป็นบริษัทขวัญใจมหาชน เป็นบริษัทที่ทุกคนอยากมาทำงานด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กจบใหม่

สอง เป็นบริษัทที่ลูกค้ารัก ดูแลลูกค้าเป็นอย่างดี ไม่เอาเปรียบเขา

สาม เป็นบริษัทในใจของนักลงทุน ที่เขามาลงทุนด้วยแล้วจะได้ผลตอบแทนที่ดีกลับไป และสุดท้าย คือ บริษัทยังสามารถเติบโตต่อไปได้ หรืออยู่ได้ด้วยตนเอง แม้จะไม่มีคนที่ชื่อ “ซิคเว่” อยู่ด้วยแล้วก็ตาม

“เราพยายามสร้างคนรุ่นใหม่เข้ามาดูแล เรายังไปไม่ถึงขั้นนั้น นี่คือสิ่งสำคัญ ไม่ใช่การเพิ่ม Subscriber เพราะจุดสูงสุดของ DTAC คือการเป็น Great Company แต่ที่สุดแล้ว คือการที่ตัวผมไม่เป็นที่ต้องการของ DTAC อีกต่อไป คือสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง สร้างวัฒนธรรมของตัวเองขึ้นได้”

High Tech – High Touch

ความเป็น Trend Setter หรือการมี Innovation ของDTAC ไม่ได้นำเสนอออกมาในภาพของไฮเทคโนโลยี หรืออินเทรนด์แบบสุดสุด เหมือนอย่างที่ผู้ให้บริการระบบค่ายอื่นๆ แสดงออกมา แต่สิ่งที่ DTAC มักเป็นผู้นำเสมอกลับกลายเป็นเรื่องของการสร้าง Mind Set ที่ไม่ได้โฟกัสที่เทคโนโลยี ไม่ได้โฟกัสที่ตัวมาร์เก็ตติ้ง แต่เป็นการโฟกัสไปที่ตัวลูกค้า หรือผู้บริโภคเป็นหลัก

“การสร้าง Innovation ใหม่ๆ จึงเป็นไปในแง่การตอบสนองความต้องการของลูกค้า ด้วยการนำข้อมูลฟีดแบ็คที่ได้จากลูกค้า มาเปลี่ยนเป็น innovation และเปลี่ยนเป็นบริการ หรือโปรดักต์ที่ตัวลูกค้าเองอาจไม่เคยรู้ว่าตัวเองต้องการสิ่งเหล่านี้”

CEO คน DTAC บอกว่า Innovation ใหม่ๆ ของ DTAC ในตอนนี้ ยังอยู่ที่เรื่องของการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์ เขามองว่า มันง่ายเกินไปหากมองว่า Innovation คือเรื่องของเทคโนโลยีเท่านั้น

“เราสร้างวัฒนธรรมขึ้นมาในแบบนี้แล้ว สิ่งที่จะเป็น Innovation ในอนาคตก็คงจะเกี่ยวกับคน คน แล้วก็คน นั่นคือ “ลูกค้า” ทำอย่างไรที่จะนำข้อมูลจากลูกค้ามาสร้างเป็นสิ่งใหม่ๆ หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้กับการทำการตลาด เราจะทำแบบ Customer Focus มากขึ้น เพราะการพัฒนาตรงนี้มันเป็นระยะยาวที่ต้องตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงให้ได้ในอนาคต”

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Brand Communication รูปแบบการสื่อสารทั้งจากตัว Call Center ภาพยนตร์โฆษณา หรือแม้แต่ตัวผู้บริหารในระดับชั้นต่างๆ โดยเฉพาะบุคคลที่เป็นผู้นำระดับ CEO อย่าง คุณซิคเว่ ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ DTAC ค้นพบกับคำว่า “ความสำเร็จ” ได้อย่างรวดเร็ว

คุณซิคเว่ ออกตัวว่า ที่พูดมาทั้งหมดเป็นองค์ประกอบความสำเร็จเพียงแค่ครึ่งเดียว เพราะยังมีอีกครึ่งที่มาจากการทำงานของบุคลากรภายในองค์กร ที่บริษัทส่วนใหญ่ละเลยไม่ได้ให้ความสนใจ

“เพราะความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นได้ มันต้องประกอบกันจากปัจจัยทั้งภายนอก และภายในองค์กร”

สิ่งที่ DTAC ได้ทำมาตลอดระยะเวลา 4 ปี จากจุดเริ่มต้นของการเป็นแบรนด์ที่กำลังติดลบ ได้สะท้อนกลับมาในภาพของแบรนด์ที่แข็งแกร่งที่สุดแบรนด์หนึ่งของตลาด ด้วยความพยายามในการสร้างพัฒนาการของแบรนด์มาอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้บริการเพียง 70% เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศ ซึ่งในอีก 2-3 ปีข้างหน้า สัดส่วนผู้ใช้มือถือในประเทศจะเพิ่มขึ้นถึง 90% ของจำนวนประชากร

ปัจจุบัน DTAC มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 31% จากฐานลูกค้าจำนวน 13 ล้านเลขหมาย และคาดว่าในปีนี้รายได้ของ DTAC จะขยายตัวได้อีก 10-15% เทียบกับปี 2549 ที่มีรายได้ 48,473 ล้านบาท และมีกำไร 4,937 ล้านบาท ซึ่งไตรมาส 1 ที่ผ่านมา DTAC มีรายได้รวมแล้วกว่า 16,163 ล้านบาท และมีกำไร 2,833 ล้านบาท

ส่งผลให้ฐานะทางการเงินของ DTAC ดีขึ้นเป็นลำดับ…

ที่สำคัญ ปีนี้ DTAC วางเป้าหมายต้องขยับส่วนแบ่งตลาดขึ้นเป็น 35% นั่นคือ DTAC ต้องเพิ่มจำนวนผู้ใช้รายใหม่ให้ได้อีก 3.5 แสนเลขหมาย จากตลาดรวมที่คาดว่าจะขยายตัวได้อีก 10 ล้านเลขหมาย ที่ปัจจุบันมีอยู่ราว 35 ล้านเลขหมาย

ความเข้มแข็งต่างๆ ที่เกิดขึ้นทำให้ DTAC มั่นใจว่า ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของตนโดยเฉพาะเมื่อ DTAC มีการออกขายหุ้นไอพีโอ ภายใต้นโยบาย “ประชานิยม” หรือ People IPO ด้วยวิธีกระจายหุ้นไอพีโอให้แก่นักลงทุนรายย่อยถึง 65% จากไอพีโอ 222ล้านหุ้นก็ยิ่งทำให้ภาพในอดีตของการเป็น Sick Old Lady ถูกเลือนหายไปอย่างไร้ร่องรอย ®

จากซิคเว่ ถึง นิวัตต์+ตัน

เหมือนบนความต่าง

หากมองในแง่ของสไตล์การทำงานของคุณซิคเว่ เมื่อเปรียบเทียบกับ คุณนิวัตต์จิตตาลาน และ คุณตัน ภาสกรนที จะพบว่า ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้ง 3 ท่านจะเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงจากตัวเอง ก่อนที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงข้างในตัวองค์กร คุณซิคเว่ บอกว่าเป็นการทำให้เกิดผลในลักษณะของ Changing by Doing

“ผมเคยพบคุณนิวัตต์ และคุณตัน จากการที่ได้พูดคุยกันหลายๆ ครั้ง ทำให้รู้ว่าเรามีอะไรหลายๆ อย่างที่คล้ายกัน อย่างแรก คือ ความกล้า กล้าที่จะแตกต่าง ผมกล้าที่จะแตกต่างในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม คุณนิวัตต์กล้าที่จะแตกต่างในธุรกิจการเงิน ส่วนคุณตันก็กล้าที่จะแตกต่างในธุรกิจอาหาร

สอง คือ ทุกคนพูดจริงทำจริง ใช้ตัวเองไปหาลูกค้า ไม่ได้พูดถึงการเปลี่ยนแปลงแต่ลงไปทำจริง

สาม Down to Earth คือทุกคนติดดิน และลงไปเล่นกับ Emotional ของคนในแต่ละอารมณ์

และสี่ ทุกคนมองว่าการตลาดมีอะไรที่มากกว่าการทำ Advertising โดยทุกคนใช้ตัวเองในการทำ PR ในการทำตลาด เช่นเดียวกับผม”

นอกจากนี้ คุณซิคเว่ ยังมีแบรนด์ที่ชอบเป็นการส่วนตัว ก็คือ SCG หรือเครือซิเมนต์ไทย เพราะเป็นบริษัทที่ดีในแง่การบริหารบุคคล และมีความจริงใจ โดยที่ผ่านมาเคยได้รับเชิญให้ไปพูดในงานอบรม เห็นว่าเป็นบริษัทที่น่าสนใจ มี Challenge Development มีการพัฒนาองค์กร หรือการช่วยเหลือสังคม

“แบรนด์ถัดมาก็คือ KTC เป็นแบรนด์ที่ดี ที่ Trainee and Innovative ต่อมาเป็นแบรนด์ NOK Air เป็นบริษัทที่ดี เป็นบริษัทที่มีโฟกัส ไม่ใช้เงินในการตลาดมากนักเพราะรู้เกมการตลาดดี อีกอย่างคือ Heineken ที่นำเรื่องของ Emotional มาช่วยในการขายเบียร์”

ส่วนเรื่องของ Role Model คุณซิคเว่ บอกว่า ไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าไหร่ เพราะมันง่ายเกินไปกับการไปดูไปจำคนอื่นมา ไม่อยากเป็น Copy Cat แต่เขาอยากฟัง และอยากเรียนรู้ในเหตุผลของคนอื่น แล้วนำมาแปลความหมายในรูปแบบของตัวเอง ในรูปแบบที่เป็น DTAC ตรงนี้จึงยังไม่มีแบรนด์ที่ชื่นชอบเป็นพิเศษ ยังไม่มีหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่งที่โปรดปราน แต่จะเอาทุกอย่างมาประยุกต์รวมกันแล้วทำในสไตล์ที่เป็นตัวของตัวเอง

“ผมไม่ชอบร้องเพลงของคนอื่น แต่จะร้องเพลงของตัวเอง Don’t sing the other song คือทำด้วยตัวคุณเองดีกว่าที่จะไปทำซ้ำ แล้วก็ไม่สามารถทำได้ดีเท่าเขา” ®

Milestone

2536 – 2539

ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งประเทศนอร์เวย์

2539

เป็นที่ปรึกษา Norwegian Defense Research Establishment นอร์เวย์

2539 – 2540

เป็นผู้ช่วยนักวิจัยประจำศูนย์วิทยาศาสตร์และการต่างประเทศ Harvard University, John F. Kennedy

School of Government สหรัฐอเมริกา

2542 – 2543

ร่วมงานกับ เทเลนอร์ เอเชีย พีทีอี ลิมิเต็ด ในฐานะผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ

2543 – 2545

ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท เทเลนอร์ เอเชีย พีทีอี ลิมิเต็ด (เทเลนอร์)

2543 – ม.ค. 2548

เป็นหนึ่งในคณะกรรมการ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค)

2545 – ต.ค. 2548

ก้าวขึ้นเป็น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม คู่กับ คุณวิชัย เบญจรงคกุล บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค)

ต.ค. 2548 – ก.พ. 2549

ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารบมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการ บมจ. ยูไนเต็ด คอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี (ยูคอม)

ก.พ. 2549 - ปัจจุบัน

ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) และเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการ บมจ. ยูไนเต็ด คอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี(ยูคอม)

Source: http://www.brandage.com/Modules/DesktopModules/Article/ArticleDetail.aspx?tabID=2&ArticleID=455&ModuleID=21&GroupID=272

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ29 มกราคม 2565 เวลา 07:20

    Merkur | Merkur Online Casino | Play With the Best Quality
    Merkur is one 카지노 of the best brands in the world. It has a 바카라사이트 reputation for providing exceptional 메리트카지노 services, exceptional customer service, and a long

    ตอบลบ